จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้เกิดกระแสฮือฮากันอย่างหนัก เกี่ยวกับ “หอยแมลงภู่” จำนวนมากถูกซัดมาเกยที่หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี พร้อมทั้งมีชาวบ้านที่พบเห็นพากันมาเก็บหอยแมลงภู่นำใส่ถุงพลาสติก โดยมีชาวเน็ตหวั่นว่าเหตุการณ์ที่เกิดจะเป็นลางบอกเหตุร้านว่าจะเกิดภัยพิบัติขึ้น
แต่ล่าสุด ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ต้องตกใจ หอยแมลงภู่ที่เกยหาดเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ อาจคลื่นลมแรงซัด “แพแตกหอยหลุด” ไม่เกี่ยวกับ สึนามิหรือแผ่นดินไหว ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุการณ์ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มีสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล และมาเกยตื่นบุกชายหาดนั้น หากย้อนกลับไปก็เคยมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชายหาดประเทศไทยมากมาย อย่างเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 63 บริเวณอ่าวเตยงาม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พบการสะพรั่งของสาหร่ายบริเวณทิศตะวันตกของหาดเตยงาม เบื้องต้นเป็นสาหร่ายกลุ่มสีเขียวแกมน้ำเงิน ชนิด Lyngbya sp. จะสะพรั่งบริเวณชายหาดที่มีน้ำขัง ช่วงที่มีน้ำลงตอนกลางวัน แดดจัด
และส่วนใหญ่พบที่หาดใกล้กับชุมชน ซึ่งยังไม่มีรายงานความเป็นพิษของสาหร่ายชนิดนี้ แต่ถ้ามีการสะพรั่งมากๆ อาจมีผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง ส่งผลให้สัตว์น้ำตาย และมักพบสาหร่ายชนิดนี้มาเกยหาดทุกปี ปีละ 2-3 ครั้ง ในช่วงที่มีคลื่นลมแรง
วันนี้ 13 ม.ค. 63 ที่บริเวณหน้าหาดป่าตอง พบปรากฏการณ์สาหร่ายสีเขียวบูม ลอยขึ้นมาเกยตื้นเต็มชายหาด ตั้งแต่บริเวณสะพานคอรัลบีช ไปจนถึงชายหน้าหน้าโรงแรมบ้านไทย ระยะทางประมาณ 500-800 เมตร ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกปี โดยจะมีปริมาณไม่ค่อยมาก แต่ปีนี้มีปริมาณค่อนข้างมาก เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพท้องทะเล และเกิดจากพายุปาบึก
วันนี้ 24 มิ.ย. 61 ชายหาดประพาส ใกล้กับสถานีวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งอันดามัน สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต.กำพวน จ.ระนอง เกิดปรากฎการณ์หอยฝาเดียวจำนวนมากขึ้นกองทับถมบริเวณชายหาด ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดภายหลังจากที่มีพายุฝนตกหนักและลมแรง หอยที่พบเป็นหอยเจดีย์ หรือหอยพลูจีบในวงศ์ เป็นหอยที่พบได้ในพื้นที่ที่เป็นหาดทรายทอดยาวตามแนวชายฝั่ง
โดยปกติจะฝังตัวอยู่ในทราย แต่ปรากฏการณ์ที่หอยเจดีย์ที่ยังมีชีวิตขึ้นมากองทับถมเกิดได้ไม่บ่อยนัก คาดว่าเป็นเพราะฝนตกหนักในพื้นที่ชายฝั่งระนอง มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากขังท่วมในพื้นที่ชุมชน และไหลลงคลองกำพวน ซึ่งปริมาณน้ำจืดปริมาณมากๆ ที่ไหลลงสู่พื้นที่ชายฝั่งเป็นสาเหตุให้หอยที่ฝังตัวในทราย อพยพโผล่ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำจืดที่สะสมอยู่ใต้หาดทราย
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 60 ชายหาดใน อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบซากแมงกะพรุนตายอยู่บนชายหาดจำนวนมาก มีทั้งแมงกะพรุนไฟ แมงกะพรุนลอดช่อง แมงกะพรุนหนัง ทำให้นักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำทะเลถูกแมงกะพรุนไม่น้อยกว่า 20 คนต่อวัน จนน้ำส้มสายชูที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ นักท่องเที่ยวจึงพากันระวังตัวมากขึ้น ส่วนที่สาเหตุที่พบมากกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา คาดว่าเกิดจากปรากฏการณ์น้ำเบียด
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 60 พบสาหร่ายสีเขียวไม่ทราบชนิดลอยเกลื่อนหาดทับแขก ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร มีสภาพไม่เน่าเปื่อย ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเล โดยถูกคลื่นซัดเข้ามาตามชายฝั่ง และเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง กระจายตลอดแนวชายหาด ส่วนสาเหตุเกิดจากคลื่นใต้น้ำซัดสาหร่ายขึ้นมา ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำแต่ไม่มีอันตราย เพียงทำให้รู้สึกรำคาญ และระคายตามผิวหนังบ้างสำหรับคนที่มีผิวบอบบาง
วันที่ 17 ก.ย. 60 ที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณสวนหลวงราชินี ถึงสะพานปลาหัวหิน เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า “น้ำเบียด” เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำจืดไหลลงทะเลอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพอากาศค่อนข้างปิด มืดครึ้มตลอดทั้งวัน น้ำทะเลมีสีแดงขุ่น สัตว์ทะเลจึงปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการน็อคน้ำ จึงลอยตัวเหนือผิวน้ำ และว่ายเข้าฝั่งเป็นจำนวนมาก
ทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างนำอุปกรณ์ เครื่องมือมือทางการประมงลงทะเลไปจับปลา และสัตว์น้ำ จนเต็มชายหาด เช่น ปลากระเบน ปลาตุกา ปลาสีกุน ปลาเก๋า ปลากด ปลาสลิด ปลาสร้อย ปลากะพงทะเล ปลาโฉมงาม ปลาเกร็ดข้าวเม่า ปลาเห็ดโคน ปูม้าและฉลาม เป็นต้น บางคนนำอวนมาล้อม ได้ปลาน้อยใหญ่กันคนละหลายสิบกิโลกรัม บางครอบครัวนำใส่เรือจนเกือบเต็มลำ
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 57 พบแมงกะพรุนถ้วยจำนวนมากเกยตื้นบริเวณชายหาดในจังหวัดระยอง โดยเฉพาะที่ชายหาดแหลมแม่พิมพ์ ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง มีแม่กะพรุนถ้วยขนาดตัวประมาณ 10 เซนติเมตร ลอยและเกยตื้นอยู่เต็มชายหาดยาวกว่า 3 กิโลเมตร รวมทั้งที่ชายหาดสวนสน และชายหาดแม่รำพึง ขณะที่บริเวณอ่าวมะขามป้อมก็มีแมงกะพรุนเกยตื้นเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในรอบ 30 ปี ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น อาจเป็นเพราะอ่าวไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ปีนี้มีแมงกะพรุนมากเป็นพิเศษ
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 56 ที่ ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ตลอดแนวชายหาดทะเลหาดเจ้าสำราญ พบปลาทะเลเริ่มลอยตาย และเกยตื้นเกลื่อนชายหาดจำนวนมาก ทำให้ชาวประมงนำเรือพร้อมอวนลากปลาอยู่ริมชายฝั่งจำนวนหลาย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนริมชายหาดได้ลงไปจับปลาขึ้นมาเกยตื้นตายริมชายหาด ปลาที่จับได้มีทั้งปลาเห็ดโคน ปลาลิ้นหมา ปลาดุกทะเล ปลาจวด ปลากระเบน และปลาทะเลขนาดเล็กอีกหลายชนิด รวมถึงกุ้งกุลาดำ
โดยสาเหตุเกิดจากน้ำจืดที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลจนกลายเป็นน้ำเสีย หรือที่เรียกว่า “น้ำแดง” หรือปรากฏการณ์ “น้ำเบียด” โดยน้ำจืดที่ถูกระบายออกมาจำนวนมากจะไปลงสู่ทะเลบริเวณปากอ่าวบางตะบูน จ.เพชรบุรี ส่งผลให้น้ำทะเลมีค่าออกซิเจนที่น้อยลง โดยน้ำจะมีสีส้มอ่อน ถ้าเสียมากจะมีสีส้มแก่ และเข้ม ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำอย่างน้อยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล หากมีปริมาณมากกว่าก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : Petchpoom Channel, Krobkruakao, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, Thethaiger, ครอบครัวข่าว 3
ข่าวที่เกี่ยวข้อง..
- 'อ.ธรณ์'ชี้'แพแตกหอยหลุด' เกลื่อนหาด-ลั่นไม่ใช่สึนามิ!
- ชาวเน็ตผวา!'หอยแมลงภู่'บุกหาดจอมเทียน หวั่นลางร้าย
August 03, 2020 at 04:02PM
https://ift.tt/2Pm2vwQ
ประมวลวิกฤตการณ์ธรรมชาติ สัตว์ทะเลเกยชายหาดไทย! - เดลีนีวส์
https://ift.tt/3f2b4rv
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ประมวลวิกฤตการณ์ธรรมชาติ สัตว์ทะเลเกยชายหาดไทย! - เดลีนีวส์"
Post a Comment