Search

'อ.ธรณ์' เล่าเรื่อง 'ปลาบู่มหิดล' หนึ่งปลารักษาประเทศ - สยามรัฐ

fishtagall.blogspot.com

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า...

ตั้งใจจะเขียนมาทั้งวัน เพิ่งมีโอกาสยามใกล้เปลี่ยนวันใหม่ แต่ตั้งใจแล้วจะต้องเขียนให้ได้ เพื่อให้เพื่อนธรณ์ทราบถึงเรื่องหนึ่งที่เริ่มจางหายไปตามกาล
#ปลาบู่มหิดล
#หนึ่งปลารักษาทั้งประเทศ
เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
ในพ.ศ.2469 ในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ประเทศสยามตั้ง “กรมรักษาสัตว์น้ำ”
เหตุผลตอบง่าย เพราะประเทศนี้ “ในน้ำมีปลา”
น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม มีปลาทั้งนั้น
คนไทยกินปลามาเนิ่นนาน
อันที่จริง ปลาแทบจะเป็นอาหารหลักในสำรับไทย ในสมัยที่การเลี้ยงหมูไก่ยังไม่ก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้
เมื่อจับปลา กินปลา ก็ต้องรู้จักปลา รู้รักษาปลา
นั่นคือเจตนาของกษัตริย์ที่จะนำพาแผ่นดินให้ทัดเทียมอารยประเทศ
การจัดตั้งกรมในสมัยคุณทวด ไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะคนไทยจับ/กิน แต่ไม่มีความรู้ทางวิชาการ
ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ เป็นชาวอเมริกา
ท่านจบแพทย์ แต่ทำงานในสำนักประมงอเมริกา
ดร.สมิธ เชี่ยวชาญด้านการสำรวจพันธุ์สัตว์น้ำ ท่านเดินทางไปกับเรือสำรวจทั่วโลก
เมื่อเดินทางมาไทย ท่านสำรวจสัตว์น้ำทั่วประเทศ สร้างประโยชน์ให้มากมาย
ดร.สมิธยังเป็นผู้ทำให้เกิด “บึงบอระเพ็ด” เป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำแห่งแรก
ทางการไทยเห็นผลงาน จึงขอให้ท่านเป็นที่ปรึกษาการจัดตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำ
ท่านยินดีช่วยจนสำเร็จ
ดร.สมิธเป็นอธิบดีคนแรก
แต่ท่านทราบดีว่าคงอยู่เมืองไทยไม่ได้นาน คนไทยต้องมารับช่วงต่อ
แต่หน้าที่นี้สำคัญยิ่ง จำเป็นต้องไปเรียนต่อเมืองนอก
ปัญหาคือจะไปหาทุนจากไหน ?
ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยมากมาย การส่งคนไปเรียนเมืองนอกต้องเห็นประโยชน์ทันควัน
ปลาดี แต่ปลาไม่ใช่ตึก ไม่ใช่ถนน ไม่ใช่ธนาคาร
ปลาต้องรอต่อไป
ดร.สมิธตัดสินใจ ท่านขอเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าองค์หนึ่ง
เจ้าฟ้ามหิดลฯ
เหตุใดที่ดร.สมิธเข้าเฝ้าพระองค์ ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ลองวิเคราะห์ตามข้อมูลที่ค้นมา
เจ้าฟ้ามหิดลฯ เป็นหมอ เช่นเดียวกับดร.สมิธ
พระองค์สำเร็จการศึกษาด้านการสาธารณสุข/การแพทย์จากอเมริกา
พระองค์เห็นความสำคัญกับการสนับสนุนคนไทยไปเรียนรู้จากต่างประเทศ
พระราชกรณียกิจแรกที่ทำทันทีที่กลับไทย คือมอบทุนให้คนไทยไปเรียนต่อด้านแพทย์ 10 ทุน
ก่อนสนใจเรื่องสาธารณสุข พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาด้านทหารเรือด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยม
ทรงรับราชการในกองทัพเรือทั้งในเยอรมันและในไทย
พระองค์ทรงโปรดการออกเรือไปทะเล
แน่นอนว่า คนที่อยู่กับทะเลย่อมเห็นความสำคัญของสัตว์น้ำและการอนุรักษ์
คนอยู่กับน้ำย่อมรักปลา...
จะใช่หรือไม่ใช่ก็ตาม แต่สุดท้ายผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์
เจ้าฟ้ามหิดลฯ พระราชทานทุนให้คนไทยไปเรียนต่อด้านประมง
คนเหล่านั้นสำเร็จการศึกษามาเป็นรากเหง้าของพวกเรารุ่นหลัง
เรียนจบมาดูแลสัตว์น้ำไทย
จนเรากลายเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้ทัดเทียมอารยประเทศ สมดังความตั้งใจแรกเริ่มทุกประการ
บางคนยังจบมาเป็นบรมครู
และบรมครูคนหนึ่งบรรจงวาดรูปปลาบู่ตัวหนึ่ง
ปลาบู่อะไร ?
ดร.สมิธสำรวจปลาทั่วไทยต่อไป ท่านพบปลาบู่ที่ชายทะเลแหลมสิงห์ จันทบุรี
เป็นปลาบู่ที่ไม่เหมือนชนิดไหนที่เคยเจอ
ท่านศึกษาจนพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก
ไม่เพียงแค่นั้น ยังเป็นสกุลใหม่
ดร.สมิธจึงขอพระราชอนุญาต ตั้งชื่อปลาบู่สกุลนี้ว่า Mahidolia
ปลาบู่มหิดล
ปลาชนิดเดียวของโลกที่เป็นหลักฐานบ่งบอกถึงที่มาของการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลสัตว์น้ำทั้งประเทศ
เป็นจุดเริ่มต้นของ 2 กรมใน 2 กระทรวงในปัจจุบัน
กรมประมงและกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
ยังเป็นจุดเริ่มต้นของคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์
แหล่งเรียนรู้ศึกษาปลาที่ตั้งมานาน 80 ปี
คนเรียนจบที่นี่ เรียกตัวเองว่า “มีนกร”
เจ้าฟ้ามหิดลฯ จึงเป็นพระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำไทย
สืบต่อจากปลาบู่สู่ปลานิล พระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9 ดังที่ผมเคยเขียนไว้
ปัจจุบัน ปลานิล/ปลาทับทิม คือปลาน้ำจืดที่สร้างรายได้สูงสุดให้คนไทย
ยังเป็นปลาที่คนไทยซื้อได้/กินได้ โปรตีนชั้นดีที่ทุกคนหาได้
สัตว์น้ำเศรษฐกิจ/ปลาที่เข้าถึงทุกบ้าน ทุกสำรับ ทุกมื้อ
และนั่นคือเรื่องราวที่อยากเล่าในวันมหิดล
เรื่องของคุณหมอจากอเมริกา ปลาตัวหนึ่ง และเจ้าฟ้าองค์หนึ่ง
จุดเริ่มของการอนุรักษ์สัตว์น้ำของประเทศเล็กๆ ในแดนไกล
แต่เป็นประเทศไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติใด
เป็นประเทศที่เป็น “ไท”
แม้อาจไม่สมบูรณ์สาสมใจ
แต่ “ไท” หมายถึงบรรพชนทุ่มเทแรงกายใจสร้างชนชาตินี้มาจนถึงคนรุ่นเรา
ด้วยสำนึกในอดีตและพระคุณของทุกพระองค์/ทุกท่านที่สร้างชาติ
🙏🏼🙏🏼🙏🏼🇹🇭
หมายเหตุ - ภาพวาดปลาบู่มหิดลโดยศาสตราจารย์โชติ สุวัตถิ วาดเมื่อพ.ศ.2471 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่กรมประมง
ศ.โชติ รับทุนอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และกลับมาเป็นคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เป็นท่านที่สอง
ปลาบู่มหิดลยังคงอยู่คู่ชายฝั่งทะเลไทยมาจนถึงปัจจุบัน พบในทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แม้ปัจจุบันเริ่มถูกคุกคามจากการเปลี่ยนสภาพของป่าชายเลนและชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม เราคงไม่ยอมให้สูญพันธุ์ไปจากชาติไทยแน่นอน
ตัวอย่างต้นแบบของปลาบู่มหิดล ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์
ผมเพิ่งเข้าไปดูในวันนี้
น้ำตาซึม...

Let's block ads! (Why?)




September 25, 2020 at 07:07AM
https://ift.tt/3cu49XL

'อ.ธรณ์' เล่าเรื่อง 'ปลาบู่มหิดล' หนึ่งปลารักษาประเทศ - สยามรัฐ

https://ift.tt/3f2b4rv


Bagikan Berita Ini

0 Response to "'อ.ธรณ์' เล่าเรื่อง 'ปลาบู่มหิดล' หนึ่งปลารักษาประเทศ - สยามรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.