แนวทางที่มอริเชียสใช้รับมือกับวิกฤติ
น้ำมันที่รั่วไหลออกมา ส่งผลให้มอริเชียสต้องร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากมอริเชียสไม่มีทักษะและความชำนาญที่จะรับมือกับเรื่องนี้ ซึ่งประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ก็ขานรับ พร้อมส่งทีมและอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะจากเกาะเรอูนิยง ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะมอริเชียสมาช่วยเหลือ
นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติยังช่วยส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับน้ำมันรั่วไหล และการจัดการวิกฤติลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน ภาคเอกชน และรัฐบาลมอริเชียส ในการช่วยเก็บกวาดคราบน้ำมันในทะเล ขณะที่นักชีววิทยาทางทะเลจากญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรก็เข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย
หลังเกิดเหตุ 1 สัปดาห์ มอริเชียสได้ใช้ทุ่นลอยน้ำที่ทำมาจากชานอ้อยหุ้มขวดพลาสติก มาใช้ดักจับคราบน้ำมันได้เป็นระยะทางถึงเกือบ 80 กิโลเมตร จนกระทั่งครบ 10 วัน เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ทำงานกันข้ามวันข้ามคืน ก็สามารถควบคุมการปนเปื้อนของน้ำมันไม่ให้เข้ามาถึงชายฝั่งได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม แม้จะพบว่ามีน้ำมันจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่หลุดรอดมาติดตามชายฝั่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้น ก็คือสารเคมีที่มองไม่เห็นที่ปนเปื้อนเป็นเนื้อเดียวกับน้ำทะเล ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนยาพิษที่แฝงตัวอยู่ในน้ำ รอเวลาที่จะโจมตีทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ภายใต้ท้องทะเลแห่งนี้ในอนาคตอันใกล้
อุทยานแห่งชาติบลูเบย์ สำคัญอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจนถึงขณะนี้ ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันรั่วไหลที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่น้ำมันรั่วครั้งนี้กลับสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล 2 แห่ง และใกล้กับอุทยานทางทะเลบลูเบย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของโลก นอกจากนี้มอริเชียสยังเป็นพื้นที่สำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชและสัตว์ที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่พบในพื้นที่อื่นอยู่จำนวนมาก
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติระบุว่า สิ่งแวดล้อมทางทะเลของมอริเชียสมีสิ่งมีชีวิตอยู่ราว 1,700 สายพันธุ์ รวมถึงปลา 800 ชนิด สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 17 ชนิด และเต่า 2 ชนิด นอกจากนี้ยังมีแนวปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน ทำให้น่านน้ำของมอริเชียสมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นพิเศษ
ขณะที่องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่าแนวปะการังในบริเวณนี้นอกจากจะช่วยคุ้มครองแนวชายฝั่งจากพายุและการกัดเซาะแล้ว ยังเป็นที่พึ่งพาของปลาราว 25% ในมหาสมุทร และยังเป็นหัวใจของการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจมอริเชียสด้วย
ผลกระทบที่ตามมา
หลังจากที่มีน้ำมันรั่วไหลจากเรือ เอ็มวี วากาชิโอะ ของญี่ปุ่น สภาพแวดล้อมในทะเลในพื้นที่นี้ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง น้ำทะเลที่เคยเป็นสีฟ้า กลับกลายเป็นสีหม่นคล้ำด้วยคราบน้ำมัน ขณะที่สัตว์ทะเลจำนวนมากต่างล้มตาย โดยเฉพาะโลมา ที่ลอยขึ้นมาเกยตื้นเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยล่าสุดมีโลมาต้องสังเวยชีวิตไปถึง 42 ตัวแล้ว คาดว่าผลชันสูตรสาเหตุการตายของโลมาที่เกยตื้นตายก่อนหน้านี้ น่าจะทราบผลอย่างละเอียดเร็วๆ นี้ ซึ่งจากการตรวจสอบโลมา 2 ตัวของสัตวแพทย์ในเบื้องต้น พบว่าพวกมันมีแผลบาดเจ็บตามลำตัว แต่ไม่พบร่องรอยของ ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันปิโตรเลียม ภายในตัวของพวกมันแต่อย่างใด
ด้านกรีนพีซ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลมอริเชียส เร่งสอบสวนสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งนี้หรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำมันรั่วไหลและนักชีววิทยาทางทะเลระบุว่า สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นส่วนประกอบของน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจะฟอกขาวแนวปะการัง และท้ายที่สุดปะการังพวกนี้จะตาย นอกจากนี้สัตว์ที่น่าจะได้รับผลกระทบไปด้วยก็คือ พิราบสีชมพูซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หญ้าทะเล ปลาการ์ตูน รวมทั้ง ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลปลาอีกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในมอริเชียสยาวนานนับสิบปี.
ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
ที่มา :อินเดียนเอ็กเพรซ, เนเจอร์ดอทคอม, บีบีซี
September 03, 2020 at 07:15AM
https://ift.tt/2EIB5zz
ชะตากรรมสัตว์ทะเลในมอริเชียส หลังคราบน้ำมันพิษรั่วไหล - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3f2b4rv
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ชะตากรรมสัตว์ทะเลในมอริเชียส หลังคราบน้ำมันพิษรั่วไหล - ไทยรัฐ"
Post a Comment